
บิ๊กเอียร์ (Big Ear) กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ถูกสร้างขึ้นโดยมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท (Ohio State University) ใช้สำหรับการศึกษาค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว (Search for Extra-Terrestrial Intelligence หรือ SETI) ของมหาวิทยาลัย
15 สิงหาคม 1977 กล้องโทรทรรศน์วิทยุบิ๊กเอียร์ได้รับสัญญาณวิทยุความเข้มสูงเป็นเวลากว่า 72 วินาที ข้อมูลของสัญญาณนี้ถูกสังเกตเป็นครั้งแรกโดย เจอร์รี่ อาร์ เอฮ์แมน นักดาราศาสตร์ที่ทำงานให้กับโครงการ SETI ของหอดูดาวในอีกไม่กี่วันถัดมาขณะที่เขากำลังตรวจสอบข้อมูลรายงานที่ถูกพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษ หลังจากเขาเห็นชุดข้อมูลที่ดูผิดปกติชุดนี้ เขาใช้ปากกาสีแดงวงไปในช่วงข้อมูล และเขียนคำว่า "ว้าว!" (Wow!) ไว้ที่ด้านข้าง ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อเรียกของชุดสัญญาณนี้ว่า Wow! Signal หรือสัญญาณว้าว
ชุดสัญญาณที่เอฮ์แมนเห็นในหน้ากระดาษคือข้อมูลความเปลี่ยนแปลงความเข้มของสัญญาณต่อหน่วยเวลา ไล่จาก 0-9 ต่อด้วย A-U แสดงถึงความเข้มจากน้อยไปหามาก ในขณะที่ค่าทั่วไปที่มักพบเจอจากการกวาดกล้องโทรทรรศน์วิทยุไปตามส่วนต่าง ๆ ของท้องฟ้าอยู่ที่ประมาณ 0-4 ค่าสัญญาณที่สัญญาณว้าวตรวจจับได้คือ "6EQUJ5"
กล้องโทรทรรศน์วิทยุบิ๊กเอียร์ (Big Ear Radio Telescope) ถูกใช้งานในปี ค.ศ. 1973 - 1995
การค้นพบ Wow! Signal สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการดาราศาสตร์ที่พยายามไขปริศนาที่มาของสัญญาณลึกลับนี้ และประชาชนหลายคนเชื่อว่าสิ่งที่เอฮ์แมนเจอ อาจจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตภูมิปัญญานอกโลก
ทีม SETI ที่บิ๊กเอียร์ได้พยายามแกะรอยสาเหตุและที่มาของสัญญาณอีกเป็นเวลานับเดือน พวกเขาได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีกลับไปจับตำแหน่งที่เคยได้พบเจอสัญญาณว้าวอยู่เป็นเวลานาน แต่ก็ไม่ได้พบอะไรที่มีลักษณะคล้ายคลึงอีกเลย
ภายหลังได้มีการพยายามหาคำอธิบายที่มาของสัญญาณนี้อีกหลายต่อหลายครั้ง และมีหลายมุมมองความเป็นไปได้ที่ถูกนำมาพูดถึง ทั้งจากการเป็นสัญญาณที่แท้จริงได้รับมาจากดาวหางที่ตัดหน้ากล้องในช่วงเวลานั้นพอดี ความผิดพลาดของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ หรือสัญญาณรบกวนที่อาจเกิดขึ้นมาจากบนโลกเอง
ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเป็นต้นกำเนิดของสัญญาณวิทยุปริศนานี้ สัญญาณว้าวก็ได้กระตุ้นให้สังคมในยุคสมัยหนึ่งหันมาสนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าได้มากขึ้น และหนึ่งในผลผลิตที่เกิดขึ้นจากกระแส SETI ก็คือไซไฟเรื่อง Contact ของคาร์ล เซแกน นักวิทยาศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในโครงการ SETI อีกด้วย
ติดตามเรื่องราวของ Contact สุดยอดไซไฟจากปลายปากกาคาร์ล เซแกนสู่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ได้ทาง Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอน "Contact: สุดยอด Sci-Fi จากปลายปากกา "คาร์ล เซแกน" กับเติ้ล - ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ ปั๊บ - ชยภัทร อาชีวระงับโรค