
โลโก้ตัวหนอน (Worm logo) ของนาซาถูกออกแบบขึ้นในปี ค.ศ. 1974 เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ใหม่ให้กับนาซาที่เพิ่งสิ้นสุดโครงการสำรวจดวงจันทร์ไปเพียงไม่นาน โลโก้นี้ถูกออกแบบมาเพื่อทดแทนโลโก้ "มีตบอล" (Meatball Logo) วงกลมสีน้ำเงินที่มีเส้นสีแดงหักเป็นสามเหลี่ยมพาดผ่าน พร้อมกับตัวอักษรสีขาวเขียนว่า “NASA” ตรงกลางวงกลม
โลโก้ NASA Meatball Logo และ Worm logo
การออกแบบอยู่ภายใต้โครงการ The Federal Graphics Improvement Program ที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ สามารถยื่นคำขอให้จ้างนักออกแบบมาออกแบบตราสัญลักษณ์และอัตลักษณ์ใหม่ให้กับองค์กร ตามนโยบายของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ที่ต้องการเพิ่มบทบาทของงานศิลปะในสังคมที่มักไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลบวกในแง่คะแนนนิยมจากกลุ่มศิลปิน
ศิลปินที่ทำหน้าที่ออกแบบโลโก้สีแดงเด่นของนาซาคือเอเจนซี่ขนาดย่อมชื่อ D&B ของริชาร์ด แดนน์ (Richard Danne) และบรูซ แบล็กเบิร์น (Bruce Blackburn) ที่สร้างชื่อเสียงจากออกแบบตราสัญลักษณ์ครบรอบ 200 ปี สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1971 และถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย
แม้ตอนนี้โลโก้ตัวหนอนจะเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน แต่หากย้อนกลับไปตอนที่ตราสัญลักษณ์ถูกออกแบบครั้งแรกจากตรามีตบอล ซึ่งสื่อถึงอวกาศ ดูเป็นมิตร และถูกใช้มานานเกือบสองทศวรรษ เป็นเส้นเรียบง่ายสีแดงที่ดูขึงขัง ได้สร้างความสับสนมึนงงและกระแสต่อต้านจากภายในนาซาไม่น้อย ทำให้ผู้ออกแบบต้องออกทัวร์ไปยังศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ของนาซาเพื่อ "ขาย" โลโก้นี้ให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานยอมรับ และในท้ายที่สุด แม้ว่าได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ดีเท่าที่ควร นาซาก็ได้นำตราสัญลักษณ์ตัวหนอนและระบบอัตลักษณ์ที่ D&B ออกแบบไปใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1975
ในปี ค.ศ. 1992 หรืออีก 17 ปี ภายหลังการสิ้นสุดของโครงการสถานีอวกาศสกายแล็บและโศกนาฎกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย ความนิยมของงานสำรวจอวกาศในหมู่ประชาชนชาวอเมริกันและขวัญกำลังใจของเหล่าเจ้าหน้าที่ในนาซาก็ลดลง เป็นสาเหตุให้ แดน โกลดิน (Dan Goldin) ผู้อำนวยการของนาซาในขณะนั้น พยายามคิดหาวิธีในการปลุกขวัญกำลังใจภายในนาซาขึ้นมาอีกครั้ง
หนึ่งในวิธีที่ถูกเสนอขึ้นมาก็คือการรื้อโลโก้ตัวอักษรตัวหนอนทิ้ง และเปลี่ยนกลับไปใช้โลโก้วงกลมสีน้ำเงิน "มีตบอล" แทน ซึ่งโกลดินก็ตอบรับคำขอนี้และประกาศถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ผ่าน NASA TV ซึ่งได้ถูกใช้มาจนปัจจุบัน
NASA Graphics Standards Manual คู่มือการใช้งานกราฟิกของนาซา
ในคู่มือการออกแบบของนาซาเมื่อปี ค.ศ. 2006 มีการระบุห้ามใช้โลโก้ตัวหนอนนอกจากเพื่อการค้า และห้ามใช้คู่กับโลโก้มีตบอลอย่างเด็ดขาด แต่แล้วในปี ค.ศ. 2019 นาซาก็เป็นคนทำผิดกฎทั้งสองข้อนี้เอง ด้วยการนำโลโก้ตัวหนอนกลับมาและติดมันไว้คู่กับโลโก้มีตบอลบนตัวจรวด Falcon 9 ที่ใช้ในการส่งภารกิจ Crew Demo 2 รวมถึงรถที่ใช้ส่งนักบินอวกาศไปยังฐานปล่อย และในภายหลัง ในปี ค.ศ. 2022 โลโก้ตัวหนอนยังได้ถูกนำไปติดบนจรวด SLS ที่ใช้ในการส่งภารกิจ Artemis 1 อีกด้วย
สาเหตุที่โลโก้ตัวหนอนถูกปลุกชีพมาอีกครั้งนั้นคือ จากช่วงเวลาและกระแสที่เปลี่ยนแปลงไป โลโก้ครั้งหนึ่งที่เคยถูกเกลียด ได้กลายมาเป็นตรายอดฮิตที่ถูกนำไปใช้งานมากมายหลายที่ในเชิงการค้า ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ รวมไปถึงได้ไปปรากฎในสื่อต่าง ๆ มากมาย และยังเป็นตัวบ่มเพาะตราสัญลักษณ์นี้ให้กลายเป็น "Nostalgia" ที่ผู้คนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 กลับมาคิดถึงมันอีกครั้งหนึ่ง
โลโก้ของนาซาทั้ง 2 แบบ ถูกนำมาติดบนจรวด Falcon 9
รถยนต์ Tesla ที่มีโลโก้ของนาซาทั้ง Meatball Logo และ Worm logo
ติดตามเรื่องราวของตราสัญลักษณ์นาซาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นถึงปัจจุบัน ประวัติของโลโก้ฉบับเต็ม และบทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ได้ทาง Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว ตอน "กว่าจะเป็นโลโก้นาซ่า" กับ ปั๊บ - ชยภัทร อาชีวระงับโรค และ เติ้ล - ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน