ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่มักระบาดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งมีทั้งสายพันธุ์ A, B และ C (สายพันธุ์ C พบได้น้อยมาก อาการไม่รุนแรง และไม่แพร่ระบาด จึงมักไม่ค่อยพูดถึง) ติดต่อผ่านการหายใจ โดยรับเชื้อจากละอองสารคัดหลั่งลอยอยู่ในอากาศจาก น้ำมูก เสมหะ น้ำลาย ของผู้ป่วยผ่านการไอ จาม หรือเอามือไปสัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัส แล้วมาจับจมูกหรือปาก
อาการของไข้หวัดใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่จะรุนแรงมากกว่า คือ มีไข้สูงมาก ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย หมดแรง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหล คนที่แข็งแรงจะมีอาการดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในบางคนที่สุขภาพดีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อในหู ปอดบวม สมองอักเสบ มีภาวะเกี่ยวกับหัวใจ
กลุ่มเสี่ยงที่สุดและต้องได้รับวัคซีนป้องกัน
- เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
- หญิงตั้งครรภ์
- คนที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม
- คนพิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- คนที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรั้ง, โรคหืด, โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, ไตวาย, ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด, โรคเบาหวาน, โรคธาลัสซีเมีย, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้มีเชื้อไวรัส HIV
ข้อมูลต้องรู้
- คนที่เป็นโรคหัวใจและเบาหวาน ต้องได้รับการป้องกันเป็นพิเศษ สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการกำเริบของโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนคนที่เป็นโรคเบาหวาน เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากกว่าคนปกติ และอัตราการเข้าโรงพยาบาลสูงกว่า 6 เท่า โอกาสเสียชีวิตเพิ่มสูงกว่าปกติ 5-15%
- สำหรับคนที่สูบบุหรี่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่า มีโอกาสเป็นโรคไข้หวัดใหญ่บ่อยกว่า มีโอกาสติดเชื้ออย่างรุนแรง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าคนไม่สูบบุหรี่
วิธีปฏิบัติและป้องกัน
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
- ไม่ควรรอให้ไข้หวัดใหญ่ระบาดก่อนแล้วค่อยไปฉีด เพราะร่างกายต้องใช้เวลา 10-14 วันในการสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนคือ เดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน หรือก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
- หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เป็นแหล่งชุมนุมคนจำนวนมาก หากจำเป็นให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตลอดเวลา
- ล้างมือเป็นประจำ
- ออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ข้อมูลโดย พญ. กิตติยา ศรีเลิศฟ้า | แพทย์อายุรกรรม ฝ่ายการแพทย์ AIA
เรียบเรียงโดย เชาว์วรรธณ์ พยัฆพันธ์
ฟังรายการได้ทาง