บทความ / โฮมสคูลเพื่อเด็กพิเศษตามแบบฉบับ “บ้านเรียนเป็นปลื้ม”
Kids & Family
โฮมสคูลเพื่อเด็กพิเศษตามแบบฉบับ “บ้านเรียนเป็นปลื้ม”
06 ก.ค. 66
2,681
รูปภาพในบทความ โฮมสคูลเพื่อเด็กพิเศษตามแบบฉบับ “บ้านเรียนเป็นปลื้ม”

การส่งเสริมการศึกษาของเด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) อาจเป็นเรื่องกังวลใจของครอบครัวที่มีเด็กอยู่ในภาวะนี้ เพราะดาวน์ซินโดรมเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมตั้งแต่กำเนิด ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ช้ากว้าเด็กคนอื่นทั่วไป

แนวทางการเลือกรูปแบบการเรียนของเด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม ต้องพิจารณาถึงความพร้อมและพัฒนาการของแต่ละบุคคล ว่าสามารถเรียนในรูปแบบใดได้บ้าง ซึ่งมีหลายรูปแบบ คือ

          1. การเรียนร่วม เป็นการจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับเด็กปกติทั่วไปในระบบโรงเรียน มีทั้งแบบเต็มเวลา (เรียนร่วมกันทั้งวัน) หรือเรียนร่วมเฉพาะบางวิชา

          2. การศึกษาพิเศษ เป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกประเภท ซึ่งการศึกษาในรูปแบบแบบปกติไม่สามารถพัฒนาให้เด็กพิเศษเกิดการเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพได้ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการศึกษาที่มีลักษณะพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างของแต่ละบุคคล

          3. การศึกษาทางเลือก เป็นการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนที่ไม่ต้องการเรียนในระบบการศึกษาตามปกติ แต่เน้นความต้องการหรือความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก เช่น รูปแบบของโรงเรียนวิถีธรรม, โรงเรียนวิถีธรรมชาติ การสอนแบบ Home-based learning หรือ Home school
 

น้องเป็นปลื้ม-พนธกร ชุติชูเดช

การศึกษาทางเลือกแบบโฮมสคูล (Home School) หรือ บ้านเรียน เป็นรูปแบบการศึกษาที่หลายครอบครัวมองว่าเหมาะสำหรับเด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพราะครอบครัวสามารถจัดการเรียนการสอนตามศักยภาพและพัฒนาการของเด็กได้ ทำให้ครอบครัวของ คุณแม่บี-พัชนีการ พิสิฐเมธ เลือกจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลให้ลูกชาย น้องเป็นปลื้ม-พนธกร ชุติชูเดช ซึ่งมีภาวะดาวน์ซินโดรม แม้จะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญว่า ให้ลูกเข้าเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปในระบบโรงเรียนปกติ เพื่อให้เขามีพัฒนาการมากขึ้นจากการเลียนแบบเด็กคนอื่น แต่คุณแม่บีประเมินพัฒนาการของลูกแล้วว่า ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ทั้งภาษาพูดและภาษากาย และมีโรคประจำตัว ทำให้คุณแม่บีตัดสินใจทำโฮมสคูล เพราะตอบโจทย์บริบทของครอบครัว ลดความกังวลเมื่อต้องไปเรียนร่วม และลูกไม่กดดันที่ต้องแข่งขันในระบบโรงเรียน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “บ้านเรียนเป็นปลื้ม”

สำหรับวิธีการเรียนรู้ของบ้านเรียนเป็นปลื้ม คุณแม่บีเน้นพาทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ส่งเสริมให้ลูกมีทักษะชีวิตและการดูแลตัวเองเบื้องต้น เช่น การรู้จักอาบน้ำแต่งตัว รับประทานอาหารเอง ช่วยทำงานบ้านบางอย่าง โดยในช่วงเช้าจะจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างการต่อบล็อกหรือเล่นแป้งโดเพื่อสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กและสร้างสมาธิ ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น เรียนศิลปะ ปลูกต้นไม้ เที่ยวสวนสัตว์หรือพิพิธภัณฑ์ และการเข้ากลุ่มเรียนร่วมกับเด็กโฮมสคูลคนอื่น ๆ ซึ่งแต่ละกิจกรรมถูกออกแบบให้มีหัวข้อการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อลูก เช่น หากเรียนศิลปะจะสอดแทรกความรู้เรื่องอวัยวะของตัวเอง โดยให้ลูกวาดหน้าคน แล้วเอาดอกไม้ใบหญ้าที่ปลูกอยู่รอบบ้านมาแปะเป็นอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
 

น้องเป็นปลื้ม กับกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการ
 

น้องเป็นปลื้ม-พนธกร ชุติชูเดชแกล้ว

น้องเป็นปลื้ม กับกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้

คุณแม่บีเล่าว่า การดูแลลูกที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม คนเป็นพ่อแม่ต้องอดทนมาก เพราะเด็กมีพัฒนาการล่าช้า แต่พัฒนาการจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ต้องพูดกับเขาซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อย่าคิดว่าไม่จำเป็น ต้องบอกเขาเพราะเขาไม่รู้เรื่อง คุณแม่บีมองว่าเขารู้เรื่องเพียงแค่ต้องใช้เวลา และสิ่งสำคัญคือ ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้และลองทำ อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าเขาจะทำได้หรือไม่ได้ ค่อย ๆ ทำไป สุดท้ายแล้วเขาจะทำได้และจะเติบโตเป็นคนหนึ่งที่ดูแลตัวเองได้
 

“เด็กเขามีความงามเฉพาะตัวอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราให้โอกาสเขาได้มากแค่ไหน เหมือนเรามีเมล็ดพันธุ์และเราไม่รู้ว่าเมล็ดพันธุ์นี้มันจะยังไงต่อ แม่ก็ใส่ดิน ใส่น้ำ ใส่ปุ๋ย และดูแลเอาใจใส่ทุกวัน ๆ กรณีของเราอาจใช้เวลานานสักหน่อยในการดูแลให้ปุ๋ยให้น้ำ กว่าเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า หรือว่าเป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วมันจะงดงาม และเด็กก็จะงดงามเหมือนกัน เพราะว่าเราให้การดูแลเอาใจใส่”


การศึกษาแบบโฮมสคูลจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กดาวน์ซินโดรม เพราะสามารถจัดสรรเวลาและเนื้อหาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวของผู้เรียนได้ อีกทั้งยังสามารถดูแลและเสริมสร้างพัฒนาการได้อย่างใกล้ชิด เหมาะกับบริบทครอบครัว


เรียบเรียงโดย ไอยดา สนศรี



ฟังรายการได้ทาง 


แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป