
ประกันสุขภาพ เป็นทางเลือกหนึ่งในการคุ้มครองดูแลด้านสุขภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนผ่านตัวแทนหรือบริษัทประกันภัยภายในการกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยระยะแรกยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองว่ามีมาตรการการควบคุมที่ดีประเทศหนึ่งในโลก บริษัทประกันภัยต่าง ๆ จึงขายประกันโควิดภายใต้แคมเปญที่มีชื่อว่า “เจอ จ่าย จบ” ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก แต่ภายใต้สถานการณ์ที่การระบาดเพิ่มความรุนแรงประกอบกับเชื้อไวรัสพัฒนาสายพันธุ์ให้แพร่ระบาดได้เร็วยิ่งขึ้น มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นแล้วแจ้งเคลมเงินประกันสูงตามไปด้วย จนส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัทประกันภัย ทำให้บางบริษัทประกาศงดหรือยกเลิก ประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” รวมทั้งมีการส่ง SMS ถึงผู้เอาประกันโควิด เจอ จ่าย จบ โดยให้ยืนยันหรือเลือกกรมธรรม์ใหม่แบบกำหนดเวลาตอบกลับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ทำหรือเอาประกันภัยเกรงจะเสียสิทธิประโยชน์หรือเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น
หลังการหารือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและบริษัทประกันที่ขายประกันโควิด ประเภท “เจอ จ่าย จบ” คปภ. ยืนยันว่าคำสั่งนายทะเบียนเลขที่ 38/2564 ห้ามยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ รวมถึงการห้ามปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของกรมธรรม์โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้เอาประกันจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้นบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอขายประกันภัย COVID-19 แบบ เจอ จ่าย จบ อาจพิจารณาเข้าร่วมโครงการผ่อนผันเพิ่มเติม เพื่อเสริมมาตรการเยียวยาให้บริษัทมีสภาพคล่องพร้อมที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัย COVID-19 ให้กับผู้เอาประกันภัยได้มากขึ้น หรือหากต้องการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบเดิม จะทำได้เฉพาะกรณีผู้เอาประกันภัยสมัครใจเท่านั้น ห้ามบริษัทประกันไปบังคับผู้เอาประกันภัยให้ยอมรับการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย หรือยอมรับเงื่อนไขความคุ้มครองใหม่ของบริษัท
คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รอง ผอ. ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมมีข้อเรียกร้องให้ คปภ. เข้มงวดในการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ดังนี้
1. ขอให้คปภ. ตรวจสอบกรมธรรม์ก่อนอนุญาตให้บริษัทประกันขายกรมธรรม์แบบใหม่หรือมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญาที่เสนอให้ผู้เอาประกัน เพื่อมิให้ผู้เอาประกันเสียสิทธิประโยชน์ที่พึงได้อันเกิดจากความไม่เข้าใจเงื่อนไขใหม่หรืออ่านรายละเอียดไม่ครบถ้วน
2. การที่บริษัทประกันภัยแจ้งยกเลิกกรมธรรม์เดิม พร้อมกำหนดเงื่อนไขใหม่ แล้วส่ง SMS แจ้งให้ผู้เอาประกันตอบรับภายในระยะเวลาที่กำหนด จะเข้าข่ายลักษณะมัดมือชกหรือไม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขความคุ้มครองต้องได้รับการยินยอมจากผู้เอาประกันฯ อีกทั้งยังไม่ชัดเจนว่าสิทธิประโยชน์กรมธรรม์อื่นมีเงื่อนไขความคุ้มครองมากกว่าหรือน้อยกว่ากรมธรรม์โควิด เจอ จ่าย จบ แบบเดิม
3. มีการเสนอขายกรมธรรม์แบบใหม่ที่มีทั้งประกันโควิด ค่ารักษา ทั้งยังพ่วงเรื่องของการรักษาสุขภาพอื่น ๆ และประกันอุบัติเหตุด้วย แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วพบว่าสิทธิประโยชน์ของประกันฉบับใหม่น้อยกว่าที่เคยได้รับจากประกันสุขภาพฉบับเดิม ดังนั้นผู้บริโภคต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ หากไม่ยินยอม บริษัทก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือดำเนินการในตัวเงื่อนไขสัญญากรมธรรม์ฉบับเดิมนั้นได้
สำหรับผู้บริโภคที่ซื้อประกันภัยโควิด-19 จากหลายบริษัท หากบริษัทประกันภัยที่ตนซื้อประกันถูกถอนทะเบียนการทำบริษัท ระหว่างที่ส่งเอกสารไปแต่ยังไม่ได้รับการชดเชยค่าสินไหมทดแทน ผู้บริโภคอาจต้องยื่นเอกสารไปที่กองทุนประกันภัย หรือ คปภ. เพื่อแสดงตนว่าได้ยื่นเอกสารแล้วแต่ยังไม่ได้รับการชดเชยโดยระบุด้วยว่าได้แจ้งข้อมูลไปยังบริษัทประกันด้วยแล้วหรือไม่
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกำลังประสานกับ คปภ. เพื่อตรวจสอบและติดตามเรื่องของการจ่ายคืนค่าสินไหมทดแทนสำหรับบริษัทที่ซื้อประกันและบริษัทที่มีการเคลมประกันแล้วยังไม่ได้ ผู้บริโภคจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อสิทธิประโยชน์ของตนเอง
ฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในรายการ ภูมิคุ้มกัน ทาง Thai PBS Podcast
คลิก >> Website | Spotify | Apple Podcast
หรือฟังทาง Application | Thai PBS Podcast
สแกน QR Code ดาวน์โหลดได้ที่นี่