บทความ / Biomimicry ชีวลอกเลียน เปลี่ยนธรรมชาติให้กลายเป็นแรงบันดาลใจแห่งอนาคต
Sci & Tech
Biomimicry ชีวลอกเลียน เปลี่ยนธรรมชาติให้กลายเป็นแรงบันดาลใจแห่งอนาคต
18 ต.ค. 67
702
รูปภาพในบทความ Biomimicry ชีวลอกเลียน เปลี่ยนธรรมชาติให้กลายเป็นแรงบันดาลใจแห่งอนาคต

ชีวลอกเลียน (Biomimicry) เป็นการศึกษาและนำแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ มาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรมของมนุษย์ โดยหลักการนี้ช่วยให้เราสามารถออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง มีความสมดุล และยั่งยืน ด้วยการเรียนรู้จากกระบวนการที่ธรรมชาติได้ทดสอบและปรับปรุงมาอย่างยาวนาน

การค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับความท้าทายของมนุษย์ โดยจำลองรูปแบบและกลยุทธ์ที่ธรรมชาติ ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ได้ทดสอบและพัฒนาผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน จนรู้ว่าวิธีใดที่ได้ผลอย่างเหมาะสม และสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม กระบวนการ และนโยบายที่สามารถนำไปสู่การใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับโลกปัจจุบันและปรับตัวได้ในระยะยาว เราจึงควรเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เพื่อช่วยให้ก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ไปได้

อะไรบ้างที่เป็น Biomimicry

หวังว่าสักวันมนุษย์จะโบยบิน

ลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo Da Vinci) ได้นำแนวคิดชีวลอกเลียนมาใช้ในการศึกษานก โดยหวังว่าสักวันหนึ่งมนุษย์จะสามารถโบยบินในอากาศได้ เขาสังเกตกายวิภาคและการบินของนกอย่างใกล้ชิด จนได้ออกแบบเครื่องจักรที่เรียกว่า "เครื่องจักรบิน" (Flying Machines) โดยงานวิจัยของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับสองพี่น้องตระกูลไรท์ ซึ่งในเวลาต่อมาพวกเขาได้สร้างเครื่องบินลำแรกที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สำเร็จ

ค้นพบตีนตุ๊กแกโดยบังเอิญ

ตีนตุ๊กแก (Velcro) ถูกค้นพบโดย จอร์จ เดอ เมสทรัล (George de Mestral) วิศวกรชาวสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่เขากำลังล่าสัตว์กับสุนัขของตัวเอง เขาสังเกตเห็นว่าหนามจากต้นกระชับ (Burdock) ติดอยู่ตามเสื้อผ้าและขนสุนัข ด้วยความสงสัย เขาจึงนำหนามเหล่านี้มาตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ และพบว่าพื้นผิวของหนามมีลักษณะคล้ายตะขอที่สามารถยึดติดกับสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยจากการค้นพบนี้ เขาได้นำแนวคิดมาต่อยอดจนเกิดเป็นวัสดุที่ใช้กับสิ่งต่าง ๆ มากมาย เช่น สายรัดรองเท้าที่ช่วยให้ปรับความพอดีตามเท้า, การใช้ตีนตุ๊กแกติดเครื่องหมายหรือชื่อบนชุดของทหาร และจัดเก็บสายไฟอย่างเป็นระเบียบ

เกล็ดงูช่วยชีวิต

ความปลอดภัยในการเคลื่อนไหวถือเป็นสิ่งสำคัญที่มักถูกมองข้าม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ การลื่นล้ม ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิต เพื่อแก้ปัญหานี้ นักวิจัยได้หันไปศึกษาแนวทางจากธรรมชาติ โดยพบว่างูใช้กล้ามเนื้อใต้ท้องในการบีบและยืดเกล็ดเพื่อเพิ่มแรงยึดเกาะกับพื้น ทำให้งูเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคงและไม่ลื่นไถล

ทีมวิจัยจาก School of Engineering and Applied Sciences (SEAS) และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้นำหลักการนี้มาออกแบบพื้นรองเท้าที่มีการยึดเกาะสูงโดยใช้เทคนิค คิริกามิ (Kirigami) ร่วมกับการเลียนแบบเกล็ดงู เมื่อผู้สวมใส่ก้าวเท้า หนามเล็ก ๆ จะยื่นออกมาเพื่อยึดเกาะพื้น และเมื่อลงเท้าสุด หนามเหล่านี้จะหุบกลับ เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงและปลอดภัยในการเดินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของพื้นรองเท้าให้ดีขึ้น รวมถึงการค้นหาแนวทางใหม่ ๆ ในการนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการลื่นล้มและเพิ่มความปลอดภัยในการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันได้มากยิ่งขึ้น

บ้านไร้ฝุ่นดุจดอกบัว

หลายคนอาจเคยสังเกตเห็นว่าน้ำที่เกาะบนใบบัวจับตัวเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ หากมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ พบว่าพื้นผิวของใบบัวมีลักษณะเป็นปุ่มเล็ก ๆ ที่เคลือบด้วยแว็กซ์ ซึ่งช่วยป้องกันฝุ่นและน้ำ ทำให้บริษัท ISPO จากเยอรมนีได้นำคุณสมบัติของใบบัวมาวิจัยและพัฒนาจนสามารถสร้างสรรค์สีชนิดพิเศษที่มีความสามารถในการขจัดสิ่งสกปรกที่เกาะติดกับกำแพงบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว แนวคิดชีวลอกเลียนยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ในนวัตกรรมหลายด้าน เช่น รถไฟชินคันเซ็นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนกกระเต็น กังหันลมที่พัฒนาจากแนวคิดการเคลื่อนไหวของวาฬหลังค่อม แขนกลที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของงวงช้าง เข็มฉีดยาที่ออกแบบโดยอิงจากปากของยุง และที่พักอาศัยที่ได้แรงบันดาลใจจากรังนกหรือรังของจอมปลวก

การนำแนวคิด Biomimicry มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ไม่เพียงแค่ค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและสมดุลกับธรรมชาติอย่างแท้จริง การเรียนรู้จากธรรมชาติจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ 


ฟังรายการได้ทาง

 

 

แผ่นเสียง แผ่นเสียง
กำลังออกอากาศ ไม่มีการออกอากาศ แผ่นเสียง Radio แผ่นเสียง Podcast เล่นแผ่นเสียง พักแผ่นเสียง
คลิปเสียงถัดไป