บทความ /
อันตรายถึงชีวิต กับอาการฮีทสโตรก ที่มากับความร้อน
Health
อันตรายถึงชีวิต กับอาการฮีทสโตรก ที่มากับความร้อน
09 พ.ค. 63
7,472
แชร์
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เกิดจากความผิดปกติในร่างกาย เมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ, เด็ก, คนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ, ดื่มแอลกอฮอล์จัด, เป็นโรคเบาหวาน, มีภาวะความดันโลหิต, โรคหัวใจ, โรคปอด, อยู่ในช่วงการกินยาขับปัสสาวะ และบางอาชีพที่ต้องอยู่กลางแจ้ง เช่น กรรมกร, เกษตรกร, ทหาร, ตำรวจจราจร ฯลฯ
สัญญาณเตือนก่อนเกิดฮีทสโตรก (Heat Exhaustion)
- วิงเวียนศีรษะ มึนงง
- หัวใจเต้นเร็วแต่เบา หายใจเร็วกว่าปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน (บางคน)
- กระหายน้ำมาก
- หน้าแดง ตัวร้อนจัด และเหงื่อออกมาก
เมื่อเกิดสัญญาณเตือน ให้ปฏิบัติตัวดังนี้
- หยุดทำกิจกรรมทุกอย่างแล้วรีบเข้าที่ร่มทันที
- ทำร่างกายให้เย็นด้วยการเปิดพัดลม แต่กรณีเข้าห้องที่มีแอร์ ให้เปิดพัดลมร่วมด้วย
- จิบนำ้เย็นหรือน้ำธรรมดาบ่อย ๆ ห้ามดื่มรวดเดียว
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเข็ดตามด้วยด้วยการเช็ดย้อนรูขุมขน
ปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อเกิดอาการฮีทสโตรก (Heat Stroke)
- อุณหภูมิในร่างกายจะค่อย ๆ สูงขึ้นจนถึงระดับ 40 องศาเซลเซียส
- ผิวหนังจะเริ่มแห้ง แดงและร้อนจัด
- รูขุมขนจะปิดทันที จนไม่สามารถระบายเหงื่อและความร้อนได้
- เกิดอาการตะคริว กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงหรือเกร็ง
- เริ่มไม่มีแรง หน้ามืด อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- เป็นลม หมดสติ
- ฮีทสโตรกเป็นอันตรายอย่างมากกับผู้ที่มีภาวะโรคไต หรือไตวาย
คนรอบข้างหรือใกล้ชิด สามารถสังเกตอาการของคนที่เริ่มจะมีอาการฮีทสโตรก โดยจะเริ่มมีอาการหงุดหงิดจากความร้อน พูดจาสับสนไม่รู้เรื่อง และมีอาการมึนงง
การปฐมพยาบาลคนที่มีอาการฮีทสโตรก
- รีบนำเข้าที่ร่มและมีอากาศถ่ายเทสะดวก อาจเปิดพัดลมหรือใช้พัดช่วย เพื่อพัดให้เกิดความเย็น
- ให้นอนราบ ยกเท้าสูงสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
- หากผู้ป่วยอาเจียน ให้นอนตะแคงจนหายจากอาเจียนแล้วค่อยนอนหงาย
- คลายเสื้อให้หลวม เช็ดตัวด้วยน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดา ด้วยการเช็ดย้อนรูขุมขน
- ให้ดื่มน้ำหรือเกลือแร่
- ในระหว่างปฐมพยาบาลข้อที่ 1 - 5 ให้คนอื่นติดต่อรถพยาบาลหรือโทร 1669 เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีอากาศร้อนจัด
- จิบน้ำบ่อย ๆ หรือดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่อากาศร้อน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี และป้องกันแสงแดดได้
- หากออกกำลังกาย ต้องดื่มน้ำให้เยอะ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่เสี่ยงต่อการขาดน้ำ เช่น กาแฟ และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อย่าให้เด็กและผู้สูงอายุอยู่ในรถยนต์ที่ปิดสนิทตามลำพัง
ข้อมูลโดย : พญ.กิตติยา ศรีเลิศฟ้า | แพทย์อายุรกรรม ฝ่ายการแพทย์ AIA
บทความอื่นๆ